05/03/2568
ผลิตภัณฑ์ห้องปฏิบัติการเสมือน (VIRTUAL NURSE LAB Ai)
ผลิตภัณฑ์ห้องปฏิบัติการเสมือน
ผลิตภัณฑ์ virtual nurse lab เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเทคโนโลยีด้านดิจิทัลทางการศึกษา โดยมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการประเมินทักษะของนักศึกษาพยาบาล ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบเรียลไทม์ สามารถสนับสนุนการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะทางคลินิก และทักษะทางวิชาชีพได้
รายละเอียดผลิตภัณฑ์
ห้องปฏิบัติการเสมือนสำหรับพยาบาล เป็นโปรแกรมที่ใช้เพื่อเตรียมนักศึกษาพยาบาลก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการเสมือนรวม 30 ห้องปฏิบัติการ ครอบคลุม 2 ชุดวิชา ได้แก่ ชุดวิชาการพยาบาลมารดาและทารก และ ชุดวิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ในระบบห้องปฏิบัติการดังกล่าว มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบทักษะปฏิบัติที่นักศึกษาได้ให้คำแนะนำแก่ผู้รับบริการ เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทั้งทางด้าน cognitive skills, clinical skills และ professional skill ผู้เรียนจะได้รับคำแนะนำจากระบบปัญญาประดิษฐ์ในทักษะที่นำส่งเข้ามาในระบบ ว่ามีจุดดี หรือ จุดที่ควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมั่นใจมากขึ้นในการขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการเสมือนนี้ได้พัฒนาบนกรอบแนวคิดการเรียนรู้ TPCK model (Technological-Pedagogical-Content knowledge model) ซึ่งพัฒนาโดย Mishra และ Koehler (2006) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- มีการใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ (Technology integration) โปรแกรมนี้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินทักษะของนักศึกษาและให้คำแนะนำกลับมาทันที (real time) การประเมินดังกล่าวจะนำเสนอในรูปคะแนนเป็นร้อยละ โดยระบบจะกำหนดว่า คะแนนที่ได้ หากมากกว่า ร้อยละ 60 จะแสดงผล “ผ่าน” รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับปรุงทักษะของตนเองได้ตามข้อมูลที่ได้รับจากระบบปัญญาประดิษฐ์
- รูปแบบการเรียนรู้ (Pedagogical) การเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการเสมือนนี้เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม(active learning) นักศึกษาจะได้ฝึกการให้คำแนะนำ การสาธิตย้อนกลับ ผ่านสถานการณ์จำลองเสมือนจริง มีการบันทึกวิดิโอเพื่อนำเข้าระบบ ผู้เรียนจะได้เห็นตัวเองในการให้การดูแลผู้รับบริการ สามารถเรียนซ้ำได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาได้อย่างมาก
- ความรู้ด้านเนื้อหา (Content Knowledge - CK) ห้องปฏิบัติการเสมือนนี้มุ่งเน้นการให้ความรู้ทางด้านการพยาบาลมารดาและทารก และการพยาบาลศัลยศาสตร์ คำแนะนำย้อนกลับจากระบบปัญญาประดิษฐ์จะเป็นไปตามแนวปฏิบัติทางคลินิก (Clinical Practice Guidelines) ในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้รับข้อมูลย้อนกลับที่สอดคล้องกับมาตรฐานการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย ทำให้นักศึกษามีความพร้อมในการให้คำแนะนำทางคลินิกที่มีคุณภาพและมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานจริงมากขึ้น
**คลิกเพื่อดูรายละเอียดต่างๆของผลิตภัณฑ์**