เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

โครงการอบรมระยะสั้น เรื่องการพัฒนาศักยภาพพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต (1 เดือน - กลุ่ม 1)


หลักการและเหตุผล

     ปัจจุบันอุบัติการณ์การเจ็บป่วยและการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เลือกบุคคล เวลาและสถานที่ ทำให้สถานบริการระดับต้นต้องเป็นด่านแรกที่จะเผชิญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิระดับ 2.1 (โรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง) ซึ่งตามหลักเกณฑ์ก็ไม่ควรจัดให้มีหอผู้ป่วยวิกฤต แต่ก็ต้องมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตก่อนส่งต่อและระหว่างการส่งต่ออย่างมีคุณภาพ ส่วนโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ 2.2 (โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่) หากมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักและบุคลากรมีความสามารถเพียงพอ มีความต้องการหอผู้ป่วยวิกฤตรวมเพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตไว้ในความดูแลและส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลพิเศษไปยังสถานบริการที่มีขีดความสามารถสูงขึ้น ในการเริ่มต้นจัดตั้งหอผู้ป่วยวิกฤตรวมดังกล่าว ต้องมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตเพื่อให้การจัดการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการจัดการศึกษาต่อเนื่องด้วยหลักสูตรอบรมการพยาบาลเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (หลักสูตร 18 เครดิต) แต่องค์ประกอบของหลักสูตรดังกล่าวมีความรู้ในเชิงลึกและมีความก้าวหน้า (advanced) ในด้านเทคโนโลยีการรักษาล้ำกว่าขีดความสามารถของหอผู้ป่วยวิกฤตรวมในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้พยาบาลที่อยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤตที่เปิดใหม่หรือกำลังเตรียมจะเปิดไม่พร้อมที่จะเข้าอบรมในหลักสูตรที่มีความก้าวหน้าดังกล่าวได้ และอีกทั้งการนำไปใช้ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้เต็มที่ เนื่องจากจำนวนเตียงในหอผู้ป่วยวิกฤตรวมในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยจำนวนประมาณ 4 เตียง มีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์พื้นฐานสำหรับการประเมินและรักษาผู้ป่วยวิกฤตให้มีอาการปลอดภัยและคงที่ และสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจัดอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพและพัฒนาทักษะปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงและการใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อบุคลากรพยาบาลและหน่วยงานได้เหมาะสมมากขึ้น

     คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงจัดการอบรมระยะสั้นเรื่อง การพัฒนาศักยภาพพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่จำเป็น และสามารถนำไปใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ระหว่างวันที่ 13 - 23 สิงหาคม 2567 อบรมภาคทฤษฎีทาง Online ผ่าน Application Zoom

**ได้รับ 50 หน่วยคะแนน (CNEU)**

ฝึกปฏิบัติ กลุ่มที่ 1 : วันที่ 26 สิงหาคม - 6 กันยายน 2567

เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม

  1. มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของการเจ็บป่วยวิกฤต
  2. มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยวิกฤตด้วยการตรวจร่างกาย การใช้เทคโนโลยีติดตามและการตรวจพิเศษ
  3. มีความรู้ ความเข้าใจแนวทางการจัดการปัญหาการเจ็บป่วยวิกฤต
  4. สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีพื้นฐานในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงและการรักษาการเจ็บป่วยวิกฤต
  5. สามารถประเมินและจัดการปัญหาทางการพยาบาลในผู้ป่วยวิกฤต

ค่าลงทะเบียน

  • ค่าลงทะเบียนการอบรม คนละ 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

กำหนดการจัดอบรม วัน เวลา และสถานที่

  • วันที่ 13 – 23 สิงหาคม 2567 จัดอบรมภาคทฤษฎีในรูปแบบ Online (65 ชั่วโมง)
  • วันที่ 26 สิงหาคม – 6 กันยายน 2567 จัดอบรมภาคปฏิบัติ ณ หอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม 1, 2, 3, หอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป และหอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุ โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ (80 ชั่วโมง)

ให้ผู้เข้าอบรมนำประวัติการรับวัคซีนหรือผลการตรวจ Antibody ต่อเชื้อ ดังต่อไปนี้มาแสดงในวันเปิดอบรม

ไข้หวัดใหญ่ ,บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ,หัด คางทูม หัดเยอรมันโรคสุกใส ,ไวรัสตับอักเสบ บี ,ไวรัสตับอักเสบ ซี และผลการอ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอก ไม่เกิน 6 เดือน

เอกสารประกอบการสมัคร

  1. ใบสมัครลงทะเบียน 1 ฉบับ
  2. สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 1 ฉบับ
  3. สำเนาใบโอนเงินชำระค่าลงทะเบียน 1 ฉบับ

โปรดส่งเอกสารประกอบการสมัครพร้อมกับชำระค่าลงทะเบียนตามวันเวลาที่กำหนด โดยชำระค่าลงทะเบียนผ่านบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชื่อบัญชี “ศูนย์บริการพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เลขที่บัญชี 566–4–12445-8

ช่องทางการส่งเอกสารประกอบการสมัคร

  1. สมัครออนไลน์
  2. ทาง E-mail nsccmunews@gmail.com
  3. ทางไปรษณีย์ ถึง ศูนย์บริการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 110/406 ถนนอินทวโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
  4. ทางโทรสาร เบอร์ 053-212629

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  โทรศัพท์ : 053-936074, 053-949151, 081-9925828 โทรสาร : 053-212629 Email : nsccmunews@gmail.com Facebook : www.facebook.com/nsccmu


ไฟล์แนบ : แผ่นพับประชาสัมพันธ์และใบสมัคร
หนังสือเชิญ

- ปิดรับสมัคร -